วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


 กิจกรรม การจัดกิจกรรมเสรี

กิจกรรมเสรีหรือกิจกรรมเล่นตามมุมที่โรงเรียนจัดให้เด็กเล่นอย่างอิสระ เป็นกิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่งตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างอิสระจากของเล่นตามมุมประสบการณ์หรือศูนย์



การเรียนที่จัดไว้ในห้องเรียน เช่น มุมบล็อก มุมหนังสือ มุมธรรมชาติ มุมบ้าน มุมร้านค้า เป็นต้น นอกจากจะให้เด็กเล่นตามมุมแล้ว ครูอาจจะให้เด็กทำกิจกรรมที่ครูจัด เช่น เกมการศึกษา เครื่องเล่นสัมผัส กิจกรรมสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมเสรีนี้เป็นการให้เด็กได้เล่นอิสระ ตอบสนองความสนใจของตนเอง เด็กจึงมีโอกาสได้คิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาและพัฒนาความรู้ โดยผู้ใหญ่เลือกใช้วิธีการส่งเสริมให้เด็กเล่นด้วยวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก ให้เด็กได้คิดรูปแบบการเล่นตามความสนใจและความต้องการ ทั้งที่เล่นเป็นรายเดี่ยวและเล่นเป็นรายกลุ่ม จึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้การเข้าสังคมของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้เพราะการเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตเด็กทุกคน เด็กจะรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้สังเกต ได้เรียนรู้ความรู้สึกของผู้อื่น มีโอกาสทำการทดลอง สร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา และค้นพบด้วยตนเอง ได้ใช้ประสาทสัมผัส การรับรู้ ผ่อนคลายอารมณ์ และแสดงออกถึงตนเอง ผลจากเล่นจะทำให้เด็กเกิดพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจะพัฒนาลักษณะทางสังคมของเด็กปฐมวัยผ่านการเล่นและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น การให้ความร่วมมือ การเป็นผู้นำผู้ตาม การเห็นอกเห็นใจ การแบ่งปันสิ่งของ การช่วยเหลือตนเอง และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้


 ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมเสรี


การเล่นเสรีหรือกิจกรรมเสรีมีประโยชน์ต่อเด็กในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกส่วน ดังนี้
  • ด้านร่างกาย เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อเล็กและกล้ามเนื้อใหญ่
  • ด้านอารมณ์-จิตใจ เด็กจะร่าเริงเบิกบาน มีอิสระในการเลือกเล่นสิ่งที่ตนสนใจ เด็กได้ระบายอารมณ์และความรู้สึกขณะเล่น ผ่อนคลายความตึงเครียด
  • ด้านสังคม เด็กรู้จักตนเอง รู้จักบุคคลรอบด้าน (จากการเล่นสมมุติ) รู้จักเพื่อนที่เล่นด้วย ขณะเล่นเด็กได้มีโอกาสรู้จักบทบาทของตนเองและผู้อื่น รู้จักการผ่อนปรนและรอคอย อดทนต่อความไม่สมหวัง รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการร่วมมือกับคนอื่น เป็นต้น
  • ด้านสติปัญญา เด็กได้หัดใช้ความคิด ตัดสินใจแก้ปัญหา ได้มีโอกาสสืบค้นหาคำตอบหรือบางครั้งการเล่นทำให้เด็กได้สร้างความรู้ โดยไม่ต้องจัดกิจกรรมอย่างเป็นทางการ เช่น การที่เด็กเล่นน้ำ เด็กกรอกน้ำใส่ขวด เด็กจะได้เห็นน้ำไหลผ่านปากขวดไปอย่างง่ายดาย แตกต่างจากการเอาก้อนหินใส่ขวดและหากก้อนหินก้อนใหญ่กว่าปากขวด ก้อนหินจะไม่ผ่านปากขวดไป เด็กได้เห็นน้ำแปรเปลี่ยนรูปร่างเช่นเดียวกับขวด เห็นมือของเขาเปียกน้ำ แต่สักครู่มือก็แห้งได้ น้ำหายไปไหน เป็นต้น การเล่นเสรีจึงเป็นส่วนการเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก

  • แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น